
The Southerner's Association of Thailand Under the Royal Patronage of His Majesty the King (S.A.T.)

ประวัติ
สมาคมชาวปักษ์ใต้ ในพระบรมราชูปถัมภ์
เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๔๗๕ ชาวปักษ์ใต้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน ๘๕ คน ได้นัดประชุมกัน
ที่ร้านกาแฟหน้าวัดประยูรวงศาวาส เชิงสะพานพุทธฝั่งธนบุรี เพื่อปรึกษาหารือกันจะก่อตั้งสมาคมชาวปักษ์ใต้
คณะบุคคลดังกล่าวมี ร้อยตรีถัด รัตนพันธ์ , พันตรีหลวงอภิบาลภูวนารถ , ร้อยเอกหลวงวีระวัฒน์โยธิน ,
หลวงคเชนทรมาตย์ , ขุนวรศาสตร์ดรุณกิจ , นายมงคล รัตรวิจิตร , นายกินผ่อง โกศลสถิตย์ , นายเที่ยง จินดาวัฒน์ ,
นายห่วน ประชาบาล , นายปิ๋ว เปรมะดิษฐะ , นายพัน โกมลกุญชร , นายถัด พรหมาณพ , นายจูกี่ ถิระวัฒน์ , นายบุญส่ง เลขะกุล เป็นแกนนำ ต่อมาคณะบุคคลดังกล่าวได้จัดตั้งเป็นสมาคมชาวปักษ์ใต้สำเร็จ และได้จดทะเบียนเป็นสมาคม
เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๔๗๕
เป็นสมาคมที่ ๒ ของประเทศไทย หลังที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
จึงถือเอาวันที่ ๓ กันยายน ของทุกปี เป็นวันสถาปนาสมาคม
วัตถุประสงค์ของสมาคม คือ
๑. ส่งเสริมบำรุงรักษาความสามัคคี และอุปการะซึ่งกันและกันระหว่างชาวปักษ์ใต้
๒. อุดหนุนการศึกษาของชาวปักษ์ใต้
๓. ช่วยการกุศลเมื่อสมาชิกถึงแก่ความตาย
๔. บำรุงทางอนามัย คือ การเล่นกีฬาต่างๆ
เมื่อได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสมาคมแล้ว มีการประชุมสมาชิกและเลือกนายกสมาคมคนแรก โดยสมาชิกเลือก
พันตรีหลวงอภิบาลภูวนาท เป็นนายกคนแรก
สถานที่ทำการสมาคมยังไม่มี แต่ได้รับอนุเคราะห์จาก นายถัด พรหมาณพ ให้ใช้สำนักงานของท่าน ที่ถนนข้าวสาร เป็นที่ทำการชั่วคราว จึงจำเป็นต้องย้ายที่ทำการหลายครั้ง คือ ย้ายไปถนนจักรเพชรเชิงสะพานพุทธ ย้ายไปถนนดินสอหรือตึกดิน ย้ายไปอยู่ซอยศิริพงศ์ตำบลเสาชิงช้า
ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ย้ายไปอยู่เลขที่ ๓๖๕ ซอยพญานาคราชเทวี ซึ่งได้สิทธิ์การเช่าอาคารและที่ดินจาก สำนักงานทรัพย์
สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นอาคารไม้เก่าแก่ชั้นเดียว ปลูกบนเนื้อที่ประมาณ ๒๐๐ ตารางวา อาคารเก่าจำเป็นต้องซ่อมแซม และได้สร้างอาคารกีฬาในร่ม เพื่อใช้ตั้งโต๊ะบิลเลียด ค่าซ่อมและค่าสร้างอาคารดังกล่าว ร้อยตำรวจโท
สุริยน ไรวา นายกสมาคมคนที่ ๘ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย จึงให้เรียกอาคารกีฬานั้นว่า อาคารไรวา สมาคมในซอยพญานาคราชเทวี ถือเป็นจุดศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ในสมัยนั้น สิ่งดึงดูดสมาชิก คือ พบปะสังสรรค์และแทงสนุ๊กเกอร์
ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ พลตำรวจจำเนียร พงษ์ไพโรจน์ นายกสมาคมคนที่ ๑๐ จะสร้างอาคารสมาคมใหม่ เป็นอาคารถาวรเป็นตึก ๓ ชั้น ได้ออกแบบการก่อสร้างแล้ว ต่อมาวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๐๘ สมาคมถูกไฟไหม้วอดวายหมด และได้สร้างอาคารตึก ๓ ชั้นขึ้นใหม่ สร้างเสร็จได้ขอพระราชทานอัญเชิญสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงประกอบพิธีเปิดอาคาร เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๑๐ ปี
พ.ศ. ๒๕๒๙ สมาชิกมีความเห็นว่าสถานที่ตั้งสมาคมในซอยพญานาคแคบไปแล้ว จอดรถได้น้อยคัน ฝนตกน้ำก็ท่วม จึงมีมติให้จัดหาสถานที่ตั้งสมาคมใหม่ และ ให้ขายสิทธิการเช่าและอาคาร สมาคมในซอยพญานาคซึ่งขายได้เป็นเงิน
๖ ล้านบาท นำไปเป็นทุนในการซื้อที่ดิน
ที่ประชุม สมาชิกมีมติให้ตั้งคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินจำนวน ๕ คน คือ พลตำรวจเอกมนัส ครุฑไชยันต์ นายกสมาคมคนที่ ๒๓ , นายบัญญัติ ไชยรัตน์ , นายจโรจน์ ศิริสมบัติ , ร้อยเอกอาลักษณ์ อนุมาศ และนายสมนึก อมรเดโช
ขณะที่ ร้อยเอกอาลักษณ์ อนุมาศ นำกรรมการจัดซื้อที่ดินมาดูที่ดินแปลงที่ตั้งสมาคมในวันนี้นั้น ถนนกาญจนาภิเษก เริ่มสร้างอยู่ระหว่างถมดินที่ดินแปลงที่จะซื้อนั้นเป็นที่ดินมีโฉนด คือโฉนดเลขที่ ๒๒๙๔ และ ๒๒๙๕ มีเนื้อที่รวม ๙ ไร่
๑ ตารางวา ตกลงขายราคา ๘,๗๐๐,๐๐๐ บาท และได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายในวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๙
ทำสัญญาแล้วก็ลงมือปรับถมที่ดิน จัดการขออนุญาตก่อสร้าง โดยขออนุญาตก่อสร้างโรงเรียนฝึกวิชาชีพสมาคมชาวปักษ์ใต้ก่อน จะไม่อนุญาตให้ก่อสร้างเป็นอาคารสมาคม เพราะสูงเกิน ๑๒ เมตร ที่ห้ามดังกล่าว เพราะพื้นที่สมาคมในตอนนั้น อยู่ในเขตพื้นที่สีเขียวที่ราชการห้ามปลูกสร้างอาคารสูงเกิน ๑๒ เมตร
วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ พณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ และสร้างแล้วเสร็จใน
ปี ๒๕๓๕ ค่าก่อสร้างเป็นเงิน ๓๔ ล้านบาท เป็นหนี้ธนาคาร ๒๒ ล้านบาท จึงมีมติให้ขายที่ดินไป ๒ ไร่ เพื่อนำชำระหนี้ธนาคาร ที่ดินสมาคมจึงเหลือ ๖ ไร่กับ ๙ ตารางวา
เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปว่า สมาคมชาวปักษ์ใต้ เป็นสมาคมที่โดดเด่นที่สุด และเก่าแก่ที่สุดในบรรดาสมาคมทั้งหลายของเมืองไทยในวันนี้
พลตำรวจเอกดรุณ โสตถิพันธุ์ นายกสมาคมคนที่ ๒๔ ได้ทูลเกล้าขอพระราชทานให้สมาคมชาวปักษ์ใต้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้รับโปรดเกล้าให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๗ จึงเรียกสมาคมชาวปักษ์ใต้ว่า สมาคมชาวปักษ์ใต้ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ติดต่อกันมาและตลอดไป